เมื่อไรที่เราควรรับการตรวจหาเชื้อ
หากเป็นไปได้ทุกคนที่มีอาการ หรือบุคคลที่ไม่มีอาการแต่เป็นบุคคลที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ควรได้รับการตรวจหาเชื้อ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ของท่าน
ในขณะที่คุณรอผลการตรวจหาเชื้อ คุณควรแยกกักจากผู้อื่น และรักษามาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ในบางพื้นที่ที่การตรวจอาจมีข้อจำกัด การตรวจหาเชื้อควรทำกับกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรด้านสาธารณสุข บุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ รวมถึงบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านพักผู้สูงอายุ
เชื้อไวรัสโควิด 19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวต่างๆได้นานแค่ไหน
สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรรู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาบนพื้นผิวต่างๆคือ สามารถทำความสะอาดได้อย่างง่ายดายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับงานบ้านทั่วไป งานศึกษาวิจัยระบุว่าเชื้อนี้อาจมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวสเตนเลสและพลาสติกถึง 72 ชั่วโมง น้อยกว่า 4 ชั่วโมงบนทองแดง และน้อยกว่า 24 ชั่วโมงบนกล่องกระดาษแข็ง
เหมือนเช่นเคย เราควรทำความสะอาดมือด้วยการใช้เจลแอลกอฮอล์หรือล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เลี่ยงการสัมผัสตา ปากและจมูก
เราจะไปจับจ่ายซื้อของอย่างไรให้ปลอดภัย
เมื่อไปจับจ่ายซื้อของ เว้นระยะอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น เลี่ยงการสัมผัสตาปากและจมูก สวมหน้ากาก หากเป็นไปได้ทำความสะอาดมือจับรถเข็นหรือตะกร้าก่อนใช้ เมื่อกลับบ้าน ล้างมือให้สะอาดและล้างหลังจากหยิบจับของที่ซื้อมา
ขณะนี้ยังไม่มีกรณีผู้ป่วยยืนยันว่าติดเชื้อจากอาหารหรือบรรจุภัณฑ์อาหาร
ควรล้างผักผลไม้อย่างไร
ผักผลไม้เป็นส่วนสำคัญของโภชนาการที่ดี ให้ล้างผักผลไม้ตามสถานการณ์ปกติ นั่นคือ ก่อนหยิบจับ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ จากนั้น ล้างผักผลไม้ให้สะอาดโดยเฉพาะถ้าจะบริโภคแบบดิบ
ยาปฏิชีวนะสามารถป้องกันและรักษาโรคโควิด 19 ได้หรือไม่
ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาการติดเชื้อไวรัสได้ ยาปฏิชีวนะจะได้ผลดีในการรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียเท่านั้น
โรคโควิด 19 เกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้น ยาปฏิชีวนะจึงใช้ไม่ได้ผล ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ในโรงพยาบาลแพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการแทรกซ้อนของโรคโควิด 19 ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ดังนั้นจึงควรใช้ยาปฏิชีวนะภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
เราสามารถติดเชื้อโควิด 19 จากอุจจาระของผู้ป่วยได้หรือไม่
มีงานศึกษาวิจัยที่ระบุว่าอาจมีการพบไวรัสชนิดนี้ในอุจจาระได้ในบางกรณี แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ผ่านทางอุจจาระ นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานว่าไวรัสสามารถรอดชีวิตได้ในน้ำหรือท่อระบายน้ำ
องค์การอนามัยโลกกำลังทำการศีกษาวิจัยเรื่องการแพร่เชื้อโรคโควิด 19และจะได้มาเผยแพร่ข้อค้นพบในลำดับต่อไป
แหล่งข้อมูล